ยินดีต้อนรับสู่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

  • + (054) 466 666 ต่อ 3315

  • phup@up.ac.th

  • คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
    19 หมู่ 2 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา 56000

ข่าวประชาสัมพันธ์ > รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์
 

     ไข้หวัดใหญ่ ปี พ.ศ. 2563: ข้อเท็จจริงและมาตรการป้องกัน

ไข้หวัดใหญ่ ปี พ.ศ. 2563: ข้อเท็จจริงและมาตรการป้องกัน

          แปลและเรียบเรียงโดย

ศ.นพ.วีระพล จันทร์ดียิ่ง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 

ระหว่างนี้ นานาสื่อรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่มากมาย ความไม่ครบถ้วนของการรายงานข่าว ยิ่งรายงานคนยิ่งตื่นตระหนก

คำพูดประโยคได้ยินกันเจนหู คือ “ไม่ต้องตื่นตระหนกกับโรคนี้มากนัก โรคนี้ถ้าไปพบหมอแต่เนิ่นๆสามารถตรวจว่าเป็นหรือไม่ และหากไปเร็วทันเวลาก็รักษาหายได้” ผู้ป่วยหลายคนมาพบหมอเพราะฟังข่าวและได้ยินประโยคนี้ เป็นผลให้ผู้รับข่าวสารเข้าใจต่างๆนาๆ ความว่า

  1. ไข้หวัดใหญ่หากไปทันเวลาตั้งแต่ระยะแรกรักษาหายได้ (อาจแปลว่า ถ้าไปช้า อาจจะรักษาไม่หาย)
  2. ไข้หวัดใหญ่หมอสามารถตรวจได้ว่าเป็นหรือไม่เป็น ถ้าไปแต่เนิ่นๆ (อาจแปลว่า ถ้าไปช้า ตรวจไม่เจอ รักษาไม่ถูกเป็นอันตรายได้)
  3. ดังนั้นหากทำตามสองข้อบนได้ ก็ไม่ต้องตระหนก (อาจแปลว่า ถ้าตนเองไปหาหมอไม่ได้ ก็เป็นอันตรายได้)

ผู้ป่วยบางคนได้รับคำแนะนำจากคนใกล้ชิดให้รีบไปตรวจ แต่ไม่บอกว่า ต้องมีอาการอย่างไรจึงควรไปตรวจ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลปรากฏ หมอพิเคราะห์แล้ว ไม่เข้าเกณฑ์ ผู้ป่วยก็ไม่พอใจ เพราะมั่นใจเต็มที่ ตนเองเป็นแน่ๆ แต่หมอไม่ตรวจ

 

เชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่ ช่วงนี้เป็นอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่สเปนซึ่งเคยฆ่าพลเมืองของโลกไปประมาณร้อยละ 5 (50 ถึง 100 ล้านคน) เมื่อ 90 ปีก่อนคือ เชื้อหวัดชนิด A สายพันธุ์ H1N1 เป็น “สายพันธุ์เก่า” ขณะที่ประชากรจำนวนหนึ่งมีภูมิคุ้มกัน จึง “ไม่ใหม่” กับประชากร เมื่อติดต่อไปถึงคนผู้มีภูมิคุ้มกัน ก็ ไม่แพร่กระจายต่อ

ทางทฤษฎีไข้หวัดใหญ่อันควรกลัวกันคือ “ไข้หวัดใหญ่แหล่งเกิดจากสัตว์” เพราะมีองค์ประกอบครบกล่าวคือ

  1. ไข้หวัดใหญ่จากสัตว์ เป็น สิ่งใหม่ต่อคน
  2. ไข้หวัดใหญ่สามารถ “เป็นอันตรายถึงชีวิต มากน้อยแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
  3. เมื่อติดต่อจาก “คนสู่คน” ได้เมื่อไร ก็สามารถแพร่กระจายในวงกว้าง

แต่การระบาดช่วงนี้ ไข้หวัดใหญ่เป็นชนิด A สายพันธุ์ H1N1และ H3N2 และชนิด B อันเป็น สายพันธุ์เก่า

          ไม่ต้องกลัวคำ กลายพันธุ์ เพราะไวรัสกลายพันธุ์อย่างแน่นอน เป็นธรรมชาติวิทยาของไวรัสทุกชนิด ด้วยสามารถแทรกสารพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์ร่างกายให้ผลิตลูกหลานออกมา แต่เวลาลูกหลานรับเอาสารพันธุกรรมแบบสุ่ม ย่อมมีโอกาสกลายพันธุ์ เชื้ออะไรก็กลายพันธุ์ได้ กลายพันธุ์ทุกวัน กลายพันธุ์มาแต่นมนาน เพียงแต่การกลายพันธุ์นั้นมีนัยสำคัญต่อลักษณะการแสดงออกของเชื้อไวรัส หรือเปล่า

 

ระดับของการแพร่กระจายกับระดับของความรุนแรง

“ระดับความรุนแรง” องค์การอนามัยโลกหมายถึง “ระดับของการแพร่กระจาย” ประกอบด้วย

  • ระดับ 1เชื้อปรากฏในสัตว์ แต่ไม่ปรากฏในคน ไม่ติดในคน
  • ระดับ 2เชื้อปรากฏในสัตว์ แต่ไม่ปรากฏในคน มีเพียงความเสี่ยงติดในคน
  • ระดับ 3เกิดโรคในคน แต่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน
  • ระดับ 4เกิดโรคในคน ระบาดจากคนสู่คนในระดับชุมชน
  • ระดับ 5เกิดโรคในคน ระบาดข้ามประเทศ (อย่างน้อยสองประเทศในหนึ่งทวีป)
  • ระดับ 6 เกิดโรคในคน ระบาดทั่วโลก

ทั้งหมดเป็นเรื่องของการแพร่กระจาย ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงของโรค การระบาดช่วงนี้เป็น ระดับ 5

ส่วนการออกข่าวความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ “ระดับรุนแรง” จริงหรือไม่ อย่างไร เอาเกณฑ์อะไรเป็นตัววัด

          หน่วยควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาใช้ “ร้อยละของผู้เสียชีวิต เปรียบเทียบกับ จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดจากรับรายงาน”

  • ระดับ 1เสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 0.1 (เสียชีวิตน้อยกว่า 1 คน ใน 1 ,000 คน) ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
  • ระดับ 2เสียชีวิตระหว่างร้อยละ 0.1 ถึง 0.5 เช่น ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่
  • ระดับ 3เสียชีวิตระหว่างร้อยละ 0.5 ถึง 1.0
  • ระดับ 4เสียชีวิตระหว่างร้อยละ 1.0 ถึง 2.0
  • ระดับ 5เสียชีวิตระหว่างร้อยละ 2.0 หรือมากกว่า เช่น ไข้หวัดใหญ่สเปน

การระบาดช่วงนี้จึงเป็นเพียง ระดับ 1

 

วางใจได้ไหม

          วางใจไม่ได้ เพราะการแพร่กระจายเร็วโดยติดต่อทางอากาศหายใจ การดำเนินโรคเร็วเพียงสองสามวันก็มีอาการ และสิ่งสำคัญคือ สามารถกลายพันธุ์ได้อย่างแน่นอน หากแพร่กระจายในวงกว้างมากเท่าไร  โอกาสกลายพันธุ์เป็นเชื้อหวัดรุนแรงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

          ประการสำคัญคือ การเกิดโรคพร้อมกัน เกิดผู้ป่วยจำนวนมากพร้อมกัน ในแง่จิตวิทยาสังคมทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่เชื่อมั่น เกิดการแก่งแย่งกันเพื่อให้ตนเองได้สิ่งที่ตนเองคิดว่าดีสุด รวมถึง ขวัญกำลังใจของบุคลากรสถานพยาบาลทุกภาคส่วน  

 

สถานภาพปัจจุบัน

ภาพรวมของความรุนแรงอยู่ระดับปานกลางในระดับเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล คนส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อหายเองได้ เพียงต้องการการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนน้อย ระบบการรักษาพยาบาลยังรองรับได้ แม้ว่าคับคั่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ไม่จำต้องมาโรงพยาบาล มาโรงพยาบาลเพื่อปล่อยเชื้อ ส่วนคนผู้ไม่เป็นกลับมารับเชื้อถึงโรงพยาบาล

 

เมื่อไรควรมาโรงพยาบาล

เกณฑ์อันควรรับการตรวจ

  1. มีไข้ 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ร่วมกับ
  2. อาการอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ หายใจผิดปกติ (หอบ หายใจลำบาก – หายใจมากกว่า 30 ครั้ง ต่อนาที) หรือแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นปอดบวม ร่วมกับ/ไม่ร่วมกับ
  3. มีผู้สัมผัสผู้ร่วมบ้าน หรือที่ทำงาน ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ หรือปอดอักเสบ ภายใน 7 วัน ก่อนวันเริ่มป่วย

หากประกอบด้วยเกณฑ์ครบถ้วน แพทย์จึงพิจารณาตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่งในลำคอ เพื่อระบุหาเชื้อหวัด และ/หรือ พิจารณาให้ยาต้านไวรัส ตามระดับอาการ ต่อไปนี้

  • มีอาการของโรคปอดบวม ? ตรวจเชื้อ ให้ยาต้านไวรัส และอยู่โรงพยาบาล
  • มีไข้ 38 องศาเซลเซียสและสงสัยโรคปอดบวม ?ตรวจเชื้อ ให้ยาต้านไวรัส
  • มีไข้ 38 องศาเซลเซียสและมีอาการแค่คอ ? ตรวจเชื้อ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส
  • ไม่มีไข้ ? ไม่ตรวจเชื้อ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส

ยกตัวอย่างการจัดการ

  • มีไข้ต่ำๆ ตัวรุมๆ (อุณหภูมิไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส) เดินไปเดินมาได้สบายดี? หมอเพียงให้ยาลดไข้ลดน้ำมูก ยาแก้ไอกลับไปกินบ้าน
  • ไม่มีไข้ แต่ไปกินข้าวกับคนผู้เป็นไข้หวัดใหญ่ ? หมอก็ไม่ตรวจ
  • ถ้าไม่มีไข้เลย แต่ไปกินข้าวกับคนผู้เป็นเพื่อนกับคนผู้ไปเดินผ่านสถานที่มีคนผู้เป็นไข้หวัดใหญ่ ? หมอก็ไม่ตรวจ
  • เป็นภูมิแพ้ กินยาแก้ภูมิแพ้มาปีกว่า ตอนนี้ไม่มีไข้ แต่มีน้ำมูลไหลเหมือนทุกวัน วันนี้อยากตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ ? หมอก็ไม่ตรวจ
  • ไข้สูง 38.9 องศาเซลเซียส ไอมาก แต่ไม่ได้ไปเจอใครที่ไหนเลย ? หมอไม่อยากตรวจ ก็ต้องตรวจ

 

ความทุกข์ของหมอ

  • ผู้ป่วยมีอาการไอโขลกๆ ไม่ยอมใส่หน้ากาก
  • ผู้ป่วยอยู่บ้านดีๆ ตามมารับเชื้อถึงโรงพยาบาล
  • ต้องมานั่งตอบคำถาม ทำไมหมอพูดไม่ตรง ไม่เหมือนกับสื่อรายงาน

 

ไม่แน่ใจว่าควร หรือไม่ควรไปโรงพยาบาล

  • ให้ลองลืมๆไปว่า ตอนนี้ไข้หวัดใหญ่ระบาด ดูอาการตนเองเป็นหลัก ถ้าอาการน้อย เฉกเช่นเคยเป็นก่อนหน้านี้ หรือเป็นพอประมาณ ให้กินยานอนอยู่บ้าน

 

การดูแลตนเองเรื่องหวัด

ทุกคนควรดูแลสุขภาพให้ดี อย่าให้เป็นหวัด แต่ถ้าเป็นหวัดแล้ว แยกตัวจากคนอื่นทันที อย่าเดินตลาด ไปห้าง ไปที่ชุมชน สิ่งสำคัญคือ ให้ใส่หน้ากากทันที อย่าให้เชื้อแพร่สู่คนรอบข้าง ถึงแม้อยู่บ้านอันประกอบด้วยสมาชิกแค่ 2 คนก็ตาม

 

การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นเนื่องนิจ

การแพร่กระจายเชื้อทางอากาศหายใจเกิดขึ้นได้อย่างไร เวลาเราหายใจ พูด ไอ หรือจาม จะมีฝอยของหยดน้ำลอยออกมาจากร่างกาย เรียกว่า ละอองน้ำ ส่วนจำนวนละอองน้ำจากการพูด การไอ และการจาม มีจำนวนละออง ประมาณ 100, 1,000 และ 100,000 ละออง ตามลำดับ ตั้งแต่ขนาดไม่กี่ไมครอนถึง 1,000 ไมครอน ดังรูป


 




ละอองน้ำจากการพูด ไอ จาม สามารถลอยฟุ้งไปในอากาศ และระหว่างละอองน้ำยังไม่ระเหยไป เชื้อโรคอยู่ในละอองน้ำสามารถแพร่ไปยังคนรอบข้างได้ ส่วนระยะอันตรายของการพูด การไอ อาจไกลถึง 1 เมตร สำหรับระยะอันตรายของการจามอาจไกลถึง 3 เมตร

ดังนั้น การอยู่ในชุมชนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงละอองน้ำ ไม่ว่าลอยออกมาจากปาก และจมูกของผู้ติดเชื้อ หรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ละอองน้ำปนเปื้อนสิ่งของสาธารณะโดยถูกต้อง  สัมผัส  จับต้องร่วมกัน (ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ แผงควบคุมลิฟต์ ราวบันได โทรศัพท์ ก๊อกน้ำ เป็นต้น) เป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อจากมือไม่สะอาด

โรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงเช่น ไข้หวัดใหญ่ แพร่กระจายโดยการไอ การจาม มือไม่สะอาด    ทุกคนสามารถหยุดการแพร่กระจายเชื้อ อันทำให้คุณและคนรอบข้างเจ็บป่วย ทั้งขณะเป็นหวัด  ไม่เป็นหวัด ได้ด้วยวิธีการ ต่อไปนี้

  • การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันผู้อื่น เป็นมาตรการเหมาะสมสำหรับคนผู้ไอ จามบ่อยๆ หรือขณะเป็นหวัด วิธีการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องคือ ใส่แล้วทำให้หายใจเข้าออกให้อากาศผ่านตัวหน้ากาก เพราะหน้ากากเป็นตัวกรองละอองน้ำไปเมื่อพูด ไอ จามส่วนการใส่หน้ากากไม่มิดชิด หรือมีรูรั่ว จะไม่เกิดประโยชน์ในแง่การกรองเชื้อไข้หวัดใหญ่เลย อาจเพียงแค่ป้องกันละอองน้ำขนาดใหญ่กระเด็นใส่เท่านั้น

 

  • การปิดปากปิดจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษทิชชูเวลาไอ หรือจาม เป็นมาตรการสำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่มี ใช้แขนเสื้อหรือมือปิด สำหรับการใช้มือบังปาก มีข้อสังเกตว่า มือปนเปื้อนละอองน้ำเมื่อถูกต้องสัมผัส จับต้องสิ่งของสาธารณะใช้ร่วมกัน สามารถแพร่กระจายไปยังคนอื่น หรือคนอื่นมายังตัวเราได้ เพราะเหงื่อในมือทำให้เชื้ออยู่ได้นานขึ้นสุดท้ายพอเอามือไปขยี้ตา แคะจมูก หรือหยิบของเข้าปาก เป็นผลเชื้อโรคก็เข้าสู่ร่างกายได้


  • ล้างมือหลังจากถูกต้อง สัมผัส จับต้องสิ่งของสาธารณะใช้ร่วมกัน เป็นมาตรการสำหรับคนทั่วไป ล้างมือหลังจากไอหรือจาม ด้วยน้ำหรือน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล การล้างมือควรล้างให้ทั่วถึง ตั้งแต่ปลายนิ้ว ซอกนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ และข้อมือ ตามลำดับ

โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้ใส่แหวน หรือนาฬิกา เพราะมือปนเปื้อนทำให้แหวนและนาฬิกาปนเปื้อนไปด้วย การถอดแหวนและนาฬิกาออกเมื่อล้างมือ แหวนและนาฬิกาปนเปื้อนละอองน้ำก็ไม่ได้รับการทำความสะอาด ถือเป็นสิ่งปนเปื้อน หากใส่แหวนและนาฬิกาขณะล้างมือ พื้นที่ใต้แหวนและใต้นาฬิกาเป็นพื้นที่ทำความสะอาดให้หมดจดได้ยาก หากมีคราบไคลบริเวณใต้แหวน หรือนาฬิกา จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อ




ในวาระของไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นโอกาสดีในการเริ่มหยุดยั้งการแพร่กระจายเชื้อ ด้วยมาตรการเหมาะสม เช่น การใส่หน้ากาก การป้องกันละอองน้ำจากการไอหรือจาม และการล้างมือ


ภาพ :   kapook   
ข้อมูล/ข่าว :    ศ.นพ.วีระพล จันทร์ดียิ่ง   
เพิ่มข่าวโดย :   orawan.po@up.ac.th   วันที่/เวลา :22/1/2563 12:05:35

© 2021 PHUP
เพิ่มข่าว   สำหรับเจ้าหน้าที่